ความหลากหลายและบทบาทของปลวกและมดในระบบนิเวศป่าเต็งรัง จังหวัดน่าน

(Diversity and Role of Termites and Ants in Dry Dipterocarp Ecosystem in Nan Province)

ผศ. ดร. ดวงแข สิทธิเจริญชัย

บทคัดย่อ


ความหลากหลายทางชนิดของปลวกได้ถูกศึกษาในพื้นที่ศึกษาป่าเต็งรังและสวนมะม่วง ในบริเวณสถานีวิจัย Chulalongkorn University Forestry and Research Station ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ในช่วงแล้งร้อน (เมษายน) และช่วงฝน (กรกฎาคม) ปี 2555 พบปลวกเพียง 2 ชนิดในทั้งสองพื้นที่ ได้แก่ ปลวกชนิด Macrotermes sp. และ Odontotermes sp. อยู่ในวงศ์ย่อย Macrotemitinae, วงศ์ Termitidae ส่วนในช่วงแล้งหนาว (พฤศจิกายน 2555) และช่วงแล้งร้อน (เมษายน 2556) พบปลวกไม่มากนักในพื้นที่ศึกษาทั้งสองและยังอยู่ในขั้นตอนการระบุชนิด สำหรับความหลากทางชนิดของมดในปี 2555 ทั้งในช่วงแล้งร้อน ช่วงฝนและช่วงแล้งหนาว และปี 2556 ในช่วงแล้งร้อน ทั้งสองพื้นที่ศึกษา พบมดทั้งสิ้น 43 ชนิด จัดอยู่ใน 5 วงศ์ย่อย ได้แก่ วงศ์ย่อย Dolichoderinae, วงศ์ย่อย Formicinae, วงศ์ย่อย Myrmicinae, วงศ์ย่อย Ponerinae, และวงศ์ย่อย Pseudomyrmecinae ชนิดของมดที่พบในพื้นที่ป่าเต็งรังมีน้อยกว่าในพื้นที่สวนมะม่วง มดเด่นที่พบในพื้นที่ป่าเต็งรัง คือ มดแดง Oecophylla smaragdina ซึ่งพบเป็นชนิดเด่นในทุกช่วงที่ทำการศึกษา ในขณะที่มดเด่นในพื้นที่สวนมะม่วง คือ มดง่าม Pheidologeton diversus ในการเข้าเก็บตัวอย่างในช่วงแล้งร้อน ปี 2556 ในพื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่ที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ก่อนเข้าพื้นที่เป็นเวลาหนึ่งวัน พบว่ามีมดชนิด Recurvidris sp.1 of AMK เป็นชนิดที่สำรวจพบในบริเวณนี้เป็นครั้งแรก

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์

ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย

โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง

หน้าหลัก | ร้อยเรียงเรื่องราว | งานวิจัย | กิจกรรม