การคัดแยกและเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กจากระบบนิเวศทางทะเลของหมู่เกาะแสมสารและเกาะสีชัง

(Isolation and Culture of Microalgae from Marine Ecosystems of Samaesarn Islands and Sichang Island)

รศ. ดร. อัจฉราภรณ์ เปี่ยมสมบูรณ

บทคัดย่อ


การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตจากทะเลไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นในกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ๋ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น จุลินทรีย์และสาหร่ายขนาดเล็กยังมีน้อยมาก ทั้งที่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้มีความหลากหลายทั้งในระดับอาณาจักรลงไปจนถึงระดับชนิดที่แตกต่างกันและอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างมาก การศึกษาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในทะเลไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่เน้นในเรื่องของความหลากหลายในระดับสกุลและการกระจายในบริเวณต่างๆ ปัญหาการขาดแคลนอาหารและพลังงานในปัจจุบันทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กโดยเฉพาะสาหร่ายขนาดเล็กเริ่มมีความสำคัญในการใช้ประโยชน์ในด้านโภชนาการ เภสัชกรรมและพลังงานทดแทน แต่การศึกษาเพื่อนำสาหร่ายขนาดเล็กไปใช้ประโยชน์นั้นจำเป็นต้องเข้าใจถึงสภาพทางชีววิทยา นิเวศวิทยาและสรีระวิทยาของสาหร่าย จนสามารถเพาะเลี้ยงให้สาหร่ายเติบโตและสร้างสารที่มีประโยชน์ตามต้องการได้ ดังนั้นการเก็บรวบรวมสายพันธุ์และการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจึงเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นที่จะขาดไม่ได้ นอกจากนี้การเพาะเลี้ยงเก็บสายพันธุ์ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรจากทะเลไทยโดยเฉพาะจากเกาะแสมสารและหมู่เกาะใกล้เคียงซึ่งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ส่วนเกาะสีชังก็เป็นเกาะที่มีความสำคัญมาแต่อดีตทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และพาณิชยนาวี และมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในความรับผิดชอบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเหมาะสมต่อการเป็นพื้นที่ศึกษาเพื่อการคัดแยกสายพันธุ์สำหรับการเพาะเลี้ยงและเก็บรวบรวมสายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และการอ้างอิง รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต


งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์

ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามกฎหมายกำหนด

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง

หน้าหลัก | ร้อยเรียงเรื่องราว | งานวิจัย | กิจกรรม