ความหลากหลายของแบคทีเรีย Melissococcus plutonius ที่ก่อโรคตัวอ่อนเน่ายูโรเปียน (European foulbrood disease) ในผึ้ง
Diversity of Melissococcus plutonius bacteria causing European foulbrood disease in bees

ศาสตราจารย์ ดร. จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โรคในผึ้งมีจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ผู้วิจัยและคณะได้ทำการศึกษาใน Melissococcus plutoniusซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโรคตัวอ่อนเน่ายูโรเปียน ในรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์นี้ได้ทำการศึกษาแบคทีเรียก่อโรคเพิ่มเติม คือWolbachia ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นปรสิตภายในเซลล์และสามารถชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเจ้าบ้านผ่านหลายกลไก คือ การเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของตัวอ่อนเพศผู้ให้เจริญเป็นเพศเมีย (feminization), การเข้ากันไม่ได้ของเซลล์สืบพันธุ์ (cytoplasmic incompatibility), การเกิดตัวอ่อนเพศเมียจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม (thelytoky) และการตายของตัวอ่อนเพศผู้ (male killing), การติดเชื้อ Wolbachia พบได้อย่างกว้างขวางในแมลง โดยมีประมาณ 65 % ของจำนวนสปีชีส์ทั้งหมดรวมถึงมีรายงานการติดเชื้อในผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) แต่ยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อ Wolbachia ในผึ้งโพรง (Apis cerana) ในประเทศไทยเลย ในรายงานฉบับนี้ประสบผลสำเร็จในการตรวจสอบหายีน ftsZ และ wsp ซึ่งจำเพาะกับ Wolbachia ด้วยกระบวนการ Polymerase Chain Reaction (PCR) โดยใช้เทคนิค long PCR ซึ่งอาศัยเอนไซม์สองชนิดคือ Taq polymerase ร่วมกับ Pwo polymerase ซึ่งมีความสามารถแก้ไขความผิดพลาดในการจำลอง DNA ทำให้ long PCR มีความไวสูงกว่า PCR ทั่วไป หากตัวอย่างมีการติดเชื้อ Wolbachia, ผลการตรวจหายีน ftsZ และ wsp ควรจะให้ผลลัพธ์เป็นแถบ DNA ขนาด 0.6 กิโลเบส ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการทดลองตรวจสอบความไวของกระบวนการ long PCR โดยใช้ DNA สังเคราะห์ของยีน ftsZ และ wsp เจือจางครั้งละสิบเท่าจากปริมาณ DNA เริ่มต้น 1 นาโนกรัม พบว่า long PCR สามารถตรวจพบยีน ftsZ และ wsp แม้จะมีปริมาณเพียง 1 เฟมโตกรัม

คำสำคัญ: Wolbachia, ปรสิตภายในเซลล์, long PCR, ftsZ, wsp

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง