การศึกษาโครงสร้างประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของนกกระเรียนพันธุ์ไทย(Grus antigone sharpii) ในสภาพกรงเลี้ยงด้วยลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณดีลูปในไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอ
Population structure and genetic diversity analyses of eastern sarus crane
(Grus antigone sharpii) in captive condition using mitochondrial D-loop sequence
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร วิเวกแว่ว (หัวหน้าโครงการ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ (ผู้ร่วมวิจัย)
นางสาวรังสินี สันคม (ผู้ร่วมวิจัย)
นางสาวธนพร พิมพกรรณ์ (ผู้ร่วมวิจัย)
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Grus antigone sharpii) เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ในวงศ์ Gruidae ในอดีตได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทยแล้วเนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ปัจจุบันได้มีการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยในสภาพกรงเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวนและอัตราการอยู่รอดของประชากร เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์นกให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงจึงเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนการปล่อยนกคืนสู่ธรรมชาติ งานวิจัยนี้จึงสนใจวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมและโครงสร้างประชากรของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในพื้นที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว (KKOZ; n=11) และสถานีวิจัยเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ (BB; n=16) จังหวัดชลบุรี โดยวิเคราะห์จากลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณดีลูปในไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอ ผลการศึกษาพบการแปรผันทางพันธุกรรมจำนวน 17 (1.69%) ตำแหน่ง จากลำดับเบส 1,003 คู่เบส พบแฮพโพลไทป์ที่แตกต่างกันจำนวน 12 แฮพโพลไทป์ ค่าความหลากหลายของแฮพโพลไทป์ (hd) และค่าความหลากหลายของนิวคลีโอไทด์ (π) โดยเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 0.915 (SD=0.028) และ 0.0055 (SD=0.00027) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาแต่ละพื้นที่พบว่า BB (hd=0.883, π=0.0053) มีค่าความหลากหลายทั้งสองค่าสูงกว่า KKOZ (hd=0.800, π=0.0047) แสดงว่าประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยใน BB มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงกว่า KKOZ นอกจากนี้ ผลจากการวิเคราะห์ haplotype network พบว่ามี
แฮพโพลไทป์ที่สามารถพบได้ทั้งใน BB และ KKOZ จำนวน 2 แฮพโพลไทป์ มีแฮพโพลไทป์ที่พบเฉพาะใน BB หรือ KKOZจำนวน 6 หรือ 4 แฮพโพลไทป์ ตามลำดับ ซึ่งผลที่ได้สอดคล้องกับแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการที่แสดงให้เห็นว่าแฮพโพลไทป์ทั้งหมดจัดอยู่ใน clade เดียวกันและไม่ได้ถูกจัดแบ่งออกตามพื้นที่ที่ทำการศึกษา แสดงว่านกกระเรียนพันธุ์ไทยจากทั้งสองพื้นที่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมต่ำหรือมีความใกล้ชิดกันทางสายพันธุ์ค่อนข้างสูง

คำสำคัญ: ความหลากหลายทางพันธุกรรม, ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ, ดีลูป, นกกระเรียน, แฮพโพลไทป์

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง