การผลิตเซลลูโลสิกเอทานอลจากยีสต์ที่คัดแยกได้จากพื้นที่โครงการ อพ.สธ.
รศ. ดร.วรวุฒิ จุฬาลักษณานุกูล
ผศ. ดร. ชมภูนุช กลิ่นวงษ์
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่นำจุลินทรีย์ที่คัดแยกได้ในพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืชวังเขมรมาทำการทดลองผลิตเซลลูโลสิกเอทานอลจากแฝกโดยนำตัวอย่างแฝกมาปรับสภาพด้วยวิธีทางกายภาพจนได้เป็นผง จากนั้นทำการทดลองวิเคราะห์หาปริมาณความชื้น จากนั้นทำการทดลองวิเคราะห์หาปริมาณความชื้น แฝกกำแพงเพชร 1 มีปริมาณความชื้นน้อย คือ 51.31 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำมาหาปริมาณองค์ประกอบของชีวมวลพืช พบว่าแฝกร้อยเอ็ด มีปริมาณเฮมิเซลลูโลส 42.61 %, เซลลูโลส 34.04%, ลิกนิน 4.83%, และเถ้า 0.04% จากนั้นนำปริมาณของเซลลูโลส และเฮมิเซลลูโลสมาคำนวณหาปริมาณน้ำตาลกลูโคส และไซโลส คำนวณเป็นปริมาณเอทานอลที่ได้ตามทฤษฎี พบว่าแฝกประจวบคีรีขันธ์มีค่าเอทานอลที่ได้ตามทฤษฎีสูงที่สุด จากนั้นนำเชื้อรา T. reesei มาผลิตเอนไซม์เซลลูเลสซึ่งมีแหล่งคาร์บอนเป็นแอลฟาเซลลูโลส และไซแลเนสซึ่งมีแหล่งคาร์บอนเป็น birchwood xylan แล้ววัดค่าแอกทิวิตี พบว่า เซลลูเลสมีค่าแอกทิวิตีเป็น 1.190 ยูนิต/มิลลิลิตร และมีค่าแอกทิวิตีจำเพาะเป็น 1.071 ยูนิต/มิลลิกรัมโปรตีน ส่วนไซแลเนสมีค่าแอกทิวิตีเป็น 86.961 ยูนิต/มิลลิลิตร และมีค่าแอกทิวิตีจำเพาะเป็น 56.866 ยูนิต/มิลลิกรัมโปรตีน และจะนำเซลลูเลส ไซแลเนสไปย่อยสลายแฝกต่อไป หญ้าจำนวน 2 ชนิด ที่มีปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ทั้งหมดเกิน 630 กิโลกรัม/ไร่/ปี คือ แฝกสายพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ และแฝกสายพันธุ์ราชบุรี ซึ่งแฝกประจวบคีรีขันธ์สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้เปอร์เซ็นต์สูงที่สุด จากนั้นนำมาหมักเอทานอลด้วยยีสต์พบว่าแฝกสายพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์มีผลผลิตเอทานอลสูงที่สุด

คำสำคัญ : จุลินทรีย์เซลลูโลสิก แฝก เอทานอล เซลลูโลส

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง