การผลิตลูกพันธุ์ปะการังที่มาจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูแนวปะการังและการวิจัย: ปีที่ 3
Coral propagation using sexual reproduction technique for reef restoration and research proposed: Year 3
รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์
รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทำการเพาะฟักปะการัง Acropora millepora ในฤดูกาลปี 2562 พร้อมทั้งศึกษาผลของปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม โดยอุณหภูมิ ที่มีต่อตัวอ่อนปะการัง (แรกเกิด) และปะการังวัยอ่อน (อายุ 1 – 2 ปี) ของปะการังดังกล่าว  ผลการศึกษาพบว่า ช่วงเวลาการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ตามธรรมชาติ อัตราการปฏิสนธิ อัตราการลงเกาะ รวมถึงการเติบโตและอัตรารอดระยะหลังการลงเกาะมีค่าเช่นเดียวกับฤดูกาลอื่นๆ ที่ผ่านมา  ขณะที่การเติบโตและอัตรารอดของปะการังมีค่าสูงขึ้นเมื่อนำปะการังคืนถิ่นกลับสู่ทะเล  นอกจากนั้นยังพบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นหรือต่ำลงมากขึ้นส่งผลต่อการเติบโตและอัตรารอดของปะการัง โดยมีผลสูงขึ้นกับปะการังที่มีอายุต่ำกว่า  และเมื่อนำปะการังที่มีสัดส่วนการฟอกขาวอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมาทำการฟื้นตัวในทะเลพบว่า ปะการังมีแนวโน้มสามารถฟื้นตัวได้ โดยอัตราการฟื้นตัวสูงขึ้นเมื่อระยะเวลานานขึ้น และปะการังที่มีสัดส่วนการฟอกขาวในระดับเดียวกันในปะการังที่มีอายุสูงกว่ามีแนวโน้มที่ใช้เวลาในการฟื้นตัวที่นานกว่าปะการังที่มีอายุต่ำกว่า  ทั้งนี้ ผลของงานวิจัยนี้และงานวิจัยที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่ในลักษณะการจัดกิจกรรมการให้ความรู้ การจัดนิทรรศการ และการจัดค่ายอนุรักษ์แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนผู้สนใจ รวมถึง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา

คำสำคัญ:    ปะการังเขากวาง Acropora millepora  ตัวอ่อนปะการัง  อุณหภูมิ  การนำปะการังคืนถิ่นสู่ทะเล  การฟื้นตัวของปะการัง  การอนุรักษ์ทรัพยากรแนวปะการัง

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง