ความหลากหลายของประชาคมปลาบริเวณทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
Diversity of fish community at Koh Talu, Prachuap-khiri-khan Province

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศานิต ปิยพัฒนากร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรณ์รวี เอี่ยมสมบูรณ์

ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสำรวจชนิดปลาในแนวปะการังบริเวณเกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 2  สถานี คือ อ่าวมุก และ อ่าวใหญ่  ระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 2562 จำนวน 3 ครั้ง  ในเดือน เมษายน กรกฎาคม และ กันยายน 2562 จากจำนวนปลาที่พบทั้งสิ้น 1,137 ตัว ประกอบด้วยปลา 20 วงศ์ 60 ชนิด โดยวงศ์ปลาที่พบมากที่สุด คือ วงศ์ปลาสลิดหิน (Pomacanthidae) พบ 14 ชนิด รองลงมาคือ วงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae) พบ 7 ชนิด และวงศ์ปลากะรัง (Serranidae) พบ 6 ชนิด ตามลำดับ และชนิดปลาที่เด่นและพบได้บ่อยในบริเวณที่สำรวจ คือ ปลาสลิดหินเล็กเกล็ดวาว (Neopomacentrus anabatoides) พบ ร้อยละ 26.39 รองลงมาคือ ปลากล้วยหางเหลือง (Caesio cuning) พบร้อยละ 8.44 ปลาสลิดหินสามจุด (Dascyllus trimaculatus) พบร้อยละ 7.21 และปลากล้วยแถบเหลือง (Caesio chrysozona) พบร้อยละ 6.16 การวิเคราะห์ดัชนีความหลากหลายของปลาแนวปะการังเกาะทะลุ พบว่า ความหลากหลายของชนิดปลาในแนวปะการังบริเวณเกาะทะลุมีค่าสูงสุดในเดือนกันยายน  (Diversity Index = 3.013 Species Evenness = 0.780 Species Richness = 7.819) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเพียง 3 ครั้ง อาจยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า ความแปรผันของชนิดปลาในแนวปะการังบริเวณเกาะทะลุมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงเชิงเวลาหรือฤดูกาล เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวข้อมูลการสำรวจในระยะเวลาที่ยาวขึ้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

คำสำคัญ:        ประชากรปลา, ความหลากหลาย, เกาะทะลุ

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง