สุขภาวะ นิเวศสรีรวิทยา และประชากรของเต่าทะเล ในระบบนิเวศเกาะ
Health, Ecophysiology and Population of Sea Turtle in Island Ecosystem

คณะผู้วิจัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กิตนะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรารัช กิตนะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ รองศาสตราจารย์ ผุสตี ปริยานนท์     
อาจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ  ดร.ธงชัย ฐิติภูรี
นายชิฏิภัสร์ ณ ระนอง น.ส.กัลยกร นามจันทรา นายกิตติชัย ยศดี
น.ส.ธฤษวรรณ ไตรจิตต์ นายพชร สิทธิชีวภาค น.ส.ยุพาพร วิสูตร
นายรชตะ มณีอินทร์ น.ส.รังษิมา ผิวผ่อง น.ส.ลลิตา ศรีอ่อน
น.ส.ศดานันท์ สุ่มมาตย์ และนายหฤษฎ์ จักราธิวัตริ์

ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่ยังคงสภาพอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของสัตว์สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต่ากระ Eretmochelys imbricata ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือและภาคเอกชนที่ดูแลเกาะ ได้ร่วมมือกันบริหารจัดการพื้นที่หาดทรายให้เหมาะสมกับการขึ้นทำรังวางไข่ และดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่ากระแบบ head-start program โดยนำไข่เต่ากระไปเพาะฟักจนออกจากไข่ และอนุบาลลูกเต่าในบ่อเลี้ยงจนแข็งแรงเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต แล้วจึงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การเลี้ยงเต่ากระในบ่ออาจทำให้เต่ากระมีความเครียดและตอบสนองโดยการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนซึ่งส่งผลกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ดี การใช้ฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนเป็นตัวชี้วัดสุขภาวะในเต่ากระยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนมีความแตกต่างกันตลอดทั้งวัน การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ 1) การเปลี่ยนแปลงในรอบวันของการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรน และ 2) การตอบสนองของฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนต่อการถูกจับและการกระทำที่ทำให้เกิดความเครียด ของเต่ากระในบ่อเลี้ยง ณ เกาะทะลุ โดยเก็บตัวอย่างเลือดทุก 2 ชั่วโมง จำนวน 14 ช่วงเวลาในรอบวัน โดยใช้เต่ากระวัยอ่อน 5 ตัวต่อช่วงเวลา เพื่อใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในรอบวัน และ เก็บตัวอย่างเลือดที่เวลา 0, 30, 60, 120, 240 และ 480 นาทีหลังจากจับตัวเต่ากระวัยอ่อนจำนวน 6 ตัว เพื่อใช้ศึกษาการตอบสนองต่อความเครียด นำตัวอย่างเลือดไปปั่นเหวี่ยงและแยกเก็บพลาสมาในน้ำแข็งระหว่างการเคลื่อนย้าย หลังจากนั้นจึงนำไปเก็บในตู้แช่ -20°C ก่อนนำมาตรวจสอบระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนและกลูโคส ผลของการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนในเต่ากระวัยอ่อนมีความแตกต่างในรอบวันโดยมีระดับสูงสุดในช่วงเริ่มมีแสงแดด (7:30 น.) และมีระดับต่ำสุดในช่วงแสงแดดเริ่มหมด (19:30 น.) ส่วนระดับกลูโคสมีความแตกต่างในรอบวันโดยมีการหลั่งสูงสุดในเวลา 9:30 น. หรือหลังจากระดับฮอร์โมนคอติโคสเตอโรนขึ้นสูงสุด 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่พบสหสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางชีวภาพ แต่พบสหสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนกับกลูโคสที่เวลาต่างกัน 2 ชั่วโมง อีกทั้งยังพบว่าเต่ากระมีการตอบสนองในการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนต่อการกระทำที่ทำให้เกิดความเครียด ผลการศึกษาที่ได้ทำให้เข้าใจถึงสรีรวิทยาเกี่ยวกับความเครียดของเต่ากระในบ่อเลี้ยงได้ดีขึ้น

คำสำคัญ           กลูโคส, คอร์ติโคสเตอโรน, จังหวะในรอบวัน, เต่ากระ, ปัจจัยสิ่งแวดล้อม, สรีรวิทยาเกี่ยวกับความเครียด

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง