สถานะประชากรและการแพร่กระจายของแย้ Leiolepis belliana (Hardwicke & Gray, 1827) บริเวณพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
Population status and distribution of the common butterfly lizard, Leiolepis belliana (Hardwicke & Gray, 1827), in areas of the Plant Genetic Conservation Project Under the Royal Initiative of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn

อาจารย์ ดร. นนทิวิชญ ตัณฑวณิช (หัวหน้าโครงการ)
นายณัฐนันท์ ขัณธศุภ (ผู้ร่วมวิจัย)


ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แย้ หรือ Butterfly lizard เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัย และการล่าโดยมนุษย์ ส่งผลให้ประชากรแย้ในธรรมชาติมีจำนวนลดลง จึงได้มีการอุรกกษ์โดยนำแย้พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยง และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หนึ่งในพื้นที่ๆมีการนำแย้มาปล่อยเพื่อเพิ่มจำนวนในธรรมชาติคือ เกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแย้ที่นำมาปล่อยเป็นหนึ่งในสี่สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยคือ ชนิด Leiolepis belliana หรือ แย้ผีเสื้อ (Common butterfly lizard) การติดตามประชากรดังกล่าวมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการอนุรักษ์ การศึกษาครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ และติดตามศึกษาประชากรของแย้บนเกาะแสมสาร โดยทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างจากสามพื้นที่บนเกาะแสมสาร ได้แก่ บริเวณหาดเทียน หาดหน้าบ้าน และหาดลูกลม โดยใช้บ่วงดักที่บริเวณปากรูของแย้ ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างทุกๆ 2 เดือน (ตามตารางสำรวจย่อย) นับตั้งแต่การสำรวจเบื้องต้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ทำการวัดและบันทึกขัอมูลต่างๆ เช่น เพศ น้ำหนักตัว และความยาวลำตัว (Snout-Vent Length หรือ SVL) เป็นต้น ในกรณีแย้ที่จับได้เป็นตัวอย่างใหม่ และไม่เคยมีการทำเครื่องหมายมาก่อน จะทำการติดตั้ง PIT (Passive Integrated Transponder) tag โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรในอนาคต ปัจจุบัน ได้ทำการติดตั้ง PIT tag และ Assign หมายเลขประจำตัวให้แย้บนเกาะแสมสารไปทั้งหมด 162 ตัว และเมื่อนำข้อมูลจำนวนตัวมาคำนวนพบว่า มีประชากรแย้อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ บนเกาะแสมสารกว่า 200 ตัว การวิเคราะห์ข้อมูลน้ำหนักที่จับได้ซ้ำในแต่ละเดือนพบว่า แย้ที่จับได้ซ้ำมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและลดลง คาดว่าน้ำหนักที่ลดลงอาจเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบนเกาะแสมสาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัจจัยทางกายภาพ และชีวภาพ โดยเฉพาะปริมาณอาหาร นอกเหนือจากการติดตามจำนวนประชากร และการเจริญ ได้มีการศึกษาศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรของแย้บนเกาะแสมสาร และเกาะข้างเคียง เบื้องต้น และพบความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างประชากรแย้บนเกาะต่างๆ

คำสำคัญ: แย้ เกาะแสมสาร ประชากร พันธุศาสตร์ประชากร Mark-recapture

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง