การประยุกต์ใช้โพรติสต์จากพื้นที่ อพ.สธ. ในการประเมินความเป็นพิษของมลพิษในห้องปฏิบัติการ: กรณีศึกษาของยาฆ่าแมลง
Application of protists isolated from RSPG areas in assessing toxicity of pollutants in laboratory: A case study of insecticides

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชัย จันทร์ตั้งสี
นางสาววรันญา วิรัสสะ
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพื่อลดความสูญเสียจากการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช การใช้สารเคมีฆ่าแมลงที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อาจนำไปสู่การเสียความสมดุลของระบบนิเวศ เพราะสารดังกล่าวไม่เพียงทำลายแต่แมลงศัตรูพืชเท่านั้น หากยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่ดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันได้อีกด้วย  การใช้สารฆ่าแมลงที่สกัดได้จากธรรมชาติจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า งานวิจัยครั้งนี้ศึกษาและเปรียบเทียบความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี 3 ชนิด คือ ออร์กาโนฟอสฟอรัสโพรฟีโนฟอส, ไพรีทรอยด์เบต้าไซฟลูทริน และนีโอนิโคตินอยด์ไทอะมีโทแซม และที่สกัดได้จากพืชธรรมชาติ 1 ชนิด คือ หางไหลแดง Derris elliptica (Wall.) Benth. ต่อซิลิเอตน้ำจืดพารามีเซียมสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่สกัดแยกจากคลองในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  การทดสอบสารฆ่าแมลงทั้ง 4 ชนิด โดยพิจารณาค่าความเข้มข้นที่ทำให้พารามีเซียมตายไปครึ่งหนึ่ง (LC50) หลังทดสอบกับสารเป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่า เบต้าไซ-ฟลูทริน (LC50 = 3.30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร) มีความเป็นพิษต่อพารามีเซียมมากที่สุด รองลงมาคือ โพร-ฟีโนฟอส (12.36 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร) และไทอะมีโทแซม (83.46 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร) ตามลำดับ โดยหางไหลแดงมีความเป็นพิษต่อเซลล์น้อยที่สุด เนื่องจากเซลล์สามารถอยู่รอดได้ถึง 89.79% แม้ว่าจะใช้ความเข้มข้นของสารในการทดสอบสูงถึง 500 เท่าของความเข้มข้นที่แนะนำให้ใช้แล้วก็ตาม นอกจากนี้ความเป็นพิษของสารเคมีฆ่าแมลงยังชักนำให้พารามีเซียมเกิดเม็ดพุพองที่ผิวเซลล์, ขนเซลล์หลุดร่วง, ตัวเซลล์เสียรูปร่าง และแตกสลายในที่สุด การศึกษาครั้งนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของสารเคมีฆ่าแมลงต่อจุลชีพน้ำจืดอย่างซิลิเอตพารามีเซียมแล้ว ยังสนับสนุนการใช้สารฆ่าแมลงที่สกัดได้จากพืชธรรมชาติ ซึ่งมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสารฆ่าแมลงที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมีอีกด้วย 

คำสำคัญ:การเกิดเม็ดพุพอง, การประเมินโดยชีววิธี, ความเป็นพิษต่อเซลล์, ศัตรูพืช, สารสกัดจากพืช

งานวิจัยทั้งหมดมีลิขสิทธิ์ ผู้ละเมิดจะได้รับโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย โปรดติดต่อโครงการฯ เพื่อการอ้างอิงหรือเผยแพร่ก่อนทุกครั้ง